Electrical Stimulation ( กระตุ้นไฟฟ้า )
การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ( Electrical Stimulation , Electrotherapy )
เป็นรูปแบบการรักษาทางกายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมานานกว่า 40 ปี โดยนักกายภาพบำบัดอาจใช้การกระตุ้นไฟฟ้าร่วมในโปรแกรมการรักษาการบาดเจ็บ ซึ่งเป็นสาเหตุของความปวด หรือการจำกัดการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตามรูปแบบกระแสไฟสำหรับการรักษาด้วยการกระตุ้นไฟฟ้ามีหลายรูปแบบเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่าง เช่น
กระแสไฟ TENs (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation)
รูปแบบกระแสไฟพื้นฐานสำหรับลดอาการปวด และคลายกล้ามเนื้อ ใช้ได้ดีสำหรับการจัดการกับอาการปวดทั้งในระยะเฉียบพลัน (24-48 ชั่วโมงแรก) และอาการปวดระยะเรื้อรัง (เกินกว่า 3 เดือน) โดยความเข้มข้นของกระแสไฟจะถูกปรับเพื่อระงับสัญญาณความปวดที่รายงาน จากร่างกายไปสู่สมอง ช่วยลดการใช้ยาระงับปวดในรายที่มีอาการปวดเรื้อรัง และเริ่มใช้ยาลดปวดไม่ได้ผล โดยนักกายภาพบำบัดจะใช้ TENs ลดอาการปวดด้วยการติดแผ่นแปะขั้วไฟฟ้าบนผิวหนังของผู้ถูกรักษาในตำแหน่งที้มีอาการปวด
กระแสไฟ Interferential Current (IF/IFC)
เป็นรูปแบบกระแสไฟที่นักกายภาพบำบัดมักเลือกใช้สำหรับเป้าหมายการรักษาที่อยู่ในโครงสร้างระดับลึก เช่น เข่าเสื่อม เอ็นไขว้เข่าฉีกขาด ข้อไหล่ติด กล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อก้นหรือสะโพก เพื่อลดอาการปวดในระดับลึก โดยเฉพาะในรายที่มีกล้ามเนื้อเกร็งตัว กล้ามเนื้อแข็งเป็นก้อนลำ (Muscle Spasm) และเพิ่มการไหลเวียนเลือดของกล้ามเนื้อ โดยรูปแบบการวางขั้วกระตุ้นไฟฟ้าจะเป็นรูปแบบการไขว้กากบาท เพื่อให้มีจุดตัดกันระหว่างกระแสไฟภายในเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นกระแสไฟฟ้าความถี่ปานกลาง 2 กระแส จึงได้เป็นกระแสไฟฟ้าที่มีความถี่ต่ำ ที่มีผลต่อเนื้อเยื่อเส้นประสาทที่เป็นเป้าหมายเหมือนกับกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำ แต่มีอำนาจทะลุทะลวงมากกว่าเพราะมีแรงต้านทานที่ผิวหนังน้อยกว่า จึงได้กระแสไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติทางการแพทย์ที่เหมาะสม แต่มีความรู้สึกไม่สบายที่ผิวหนังน้อยกว่ากระแสแบบอื่น
ประโยชน์หลักๆ ทางด้านคลินิกของ IF ได้แก่
1. Pain relief คือ ช่วยลดความเจ็บปวด
2. Muscle stimulation คือ กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ
3. Increased local blood flow คือ เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
4. Reduction of edema คือ ช่วยการลดบวมของเนื้อเยื่อ